“พระพิฆเนศ” คือ เทพในศาสนาฮินดูและเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งทางจิตใจของคนไทยหลายคน พระองค์ถือได้ว่าเป็นเทพเจ้าที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานและเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพสูงที่สุดองค์หนึ่งตามคติพราหมณ์-ฮินดู มีพระวรกายเป็นมนุษย์ พระเศียรเป็นช้าง ทรงเป็นโอรสของพระศิวะ และพระศรีมหาอุมาเทวี สำหรับผู้ที่บูชามีความเชื่อว่าองค์พระพิฆเนศจะช่วยขจัดอุปสรรคทั้งปวง อีกทั้งยังช่วยให้ประสบความสำเร็จ สุขสมหวังดั่งปรารถนา พระองค์ทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ บูชาง่าย จึงเป็นที่นิยมของคนไทยในปัจจุบัน โดยพระพิฆเนศปางพระเหรัมภะ คณปติ ถือเป็นปางแห่งราชาของปางพระพิฆเนศทั้งปวง
พระพิฆเนศปางพระเหรัมภะ คณปติ ประทานพรให้มีโชคลาภ สมหวังทุกประการ
พระพิฆเนศปางพระเหรัมภะ คณปติ ปางที่ปกป้องสำคัญสำหรับผู้ที่อ่อนแอและการเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง มีพระลักษณะคือ เศียรเป็นช้าง 5 เศียร โดย 4 เศียรหันไปในทิศทางต่าง ๆ และอีกเศียรอยู่ด้านบน ประทับบนพระวาหนะ (พาหนะ) คือสิงโตที่ดูน่าเกรงขาม ตำนานเล่าว่าทรงได้รับสิงโตนี้จากพระมารดา คือ พระปารวตี อย่างไรก็ตาม มีบ้างที่อาจพบหนูซึ่งเป็นพระวาหนะโดยทั่วไปของพระองค์ ปางพระเหรัมภะทรงมี 10 พระกร ซึ่งถือวัตถุต่าง ๆ พระหัตถ์ด้านซ้ายทรงถือ ศัสตราวุธ เช่น ขวาน ฆ้อน มาลัย พระหัตถ์ด้านขวา ทรงลูกประคำ ทรงให้พร บ่วงบาศ ขนมต้ม โมทกะ ผลไม้ หมายถึง ความแข็งแรงและความมีอำนาจน่าเกรงขามต่อผู้พบเห็น สำหรับปกป้องการคิดร้ายหรือทำร้ายจากศัตรู ทรงโปรยทรัพย์
พระพิฆเนศปางพระเหรัมภะ คณปติ เหมาะสำหรับผู้บูชาที่ต้องการขจัดความอ่อนแอ ความไร้พลัง เนื่องจากเป็นปางหนึ่งที่พระราชาในอินเดียนิยมบูชากันมาก จึงนิยมนำมาบูชาเพื่ออำนวยผลดีด้านการปกป้องคุ้มครองบริวาร การบริหาร ปกครองของผู้นำ และเหมาะสำหรับการธนาคาร การทำธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับเงิน
คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ
“โอม ศรี เหรัมภะ คณปติ ยะนะมะฮา”
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติบูชาองค์พระพิฆเนศ โดยเฉพาะปางพระเหรัมภะ คณปติแล้วนั้น ไม่ว่าท่านจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตาม ควรปฏิบัติธรรมแห่งการปกครองร่วมด้วยนั่นก็คือ ทศพิธราชธรรม แม้ธรรมข้อนี้จะหมายถึง ธรรมะสำหรับกษัตริย์ แต่ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถนำมาปฏิบัติตาม ดังนี้
- ทาน หมายถึง การให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ทั้งทางกายและใจ ตลอดจนถึงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เสียสละ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ประชาราษฎรทั่วไป
- ศีล หมายถึง ความประพฤติดีงาม เป็นสุจริตธรรม มีความสงบร่มเย็น สำรวมกาย วาจาใจ จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์
- ปริจจาคะ หรือการบริจาค หมายถึง การเสียสละความสุข ความสำราญส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ราษฎร หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- อาชชวะ หมายถึง ความชื่อตรง ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง
- มัททวะ หมายถึง ความอ่อนโยน ความสุภาพ และความมีอัธยาศัยนุ่มนวล ไม่ถือตัว ตลอดจนหมายถึง ความสง่างาม และท่วงทีอันเป็นทั้งที่รักและยำเกรง
- ตบะ หมายถึง ความเพียร การข่มใจ และความทรงเดชอันเป็นที่มาของพระบรมเดชานุภาพ
- อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่ลุแก่อำนาจ หรือว่า มีความเมตตาเป็นธรรมประจำใจอยู่เสมอ
- อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนกดขี่ ไม่หลงระเริงในอำนาจขาดความกรุณา
- ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้น ทนต่อการงานที่ตรากตรำไม่ท้อถอย ไม่ยอมหมดกำลังใจ และไม่ละทิ้งการงานที่เป็นการบำเพ็ญโดยชอบธรรม
- อวิโรธนะ หมายถึง การยึดมั่นในธรรม การยึดความเที่ยงธรรม ความถูกต้องเป็นที่ตั้ง
หากท่านหมั่นปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ความสำเร็จย่อมมาหาท่านได้โดยง่ายและท่านจะประสบความสำเร็จ ชีวิตร่มเย็นในทุกด้าน